ในวิกฤตเศรษฐกิจกรรมาชีพจะสู้หรือไม่?

โดย ลีออน ตรอทสกี
แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

เกริ่นนำเรื่องไทย

คำถามนี้เป็นคำถามที่มักถูกตั้งขึ้นในยุคปัจจุบันโดยนักสหภาพและนักสังคมนิยม ในขณะที่หนังสือเล่มนี้กำลังถูกตีพิมพ์ แนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดูมัวหมองน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะตลาดและแหล่งทุนสำคัญๆ ของไทยสามแห่ง คือ ยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น อยู่ในสภาวะทดถอย และในขณะที่เศรษฐกิจเราจมอยู่ในวิกฤตนี้ฐานะความเป็นอยู่ของกรรมาชีพไทย ไม่ว่าจะกรรมาชีพโรงงานหรือพนักงานในออฟฟิสก็ล้วนแต่ยากลำบากมากขึ้นและมีสภาพที่ไร้ความมั่นคง

จริงๆ แล้วคำถามในหัวข้อนี้สามารถแยกเป็นสองส่วนได้คือ (๑) เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้หรือไม่? และ (๒) เมื่อไรกรรมาชีพจะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองที่เสียหายไปในวิกฤต?

สำหรับคำถามแรก ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจดีว่าทุนนิยมมีทั้งการขยายตัวและหดตัวเป็นระยะๆ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นตัวในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญคือจะฟื้นตัวบนความเดือดร้อนของพลเมืองมากน้อยแค่ไหน และการฟื้นตัวจะมีความเข้มข้นยาวนานแค่ไหน ความเดือดร้อนของพลเมืองจะมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะสู้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเราไม่สู้เลยชนชั้นปกครองจะโยนภาระวิกฤตให้เราแบกรับทั้งหมด แต่ถ้าเราต่อสู้เขาจะต้องกัดฟันยอมให้คนรวยและธุรกิจแบกรับภาระบ้าง

ส่วนในคำถามเกี่ยวกับความเข้มข้นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เราทราบดีว่าระบบทุนนิยมปัจจุบันอยู่ในวัยชรา มีการขยายตัวจนมีลักษณะผูกขาด ทุกส่วนผูกพันกันทั่วโลก และเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งหมายถึงการฟื้นตัวของอัตรากำไรในลักษณะที่จริงจัง จำต้องอาศัยการทำลายล้างพลังการผลิตล้นเกินที่เป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตโดยวิธีการต่างๆ เช่นการปิดโรงงานอย่างถ้วนหน้า หรือการทำสงครามระดับโลกอย่างที่เคยเกิดในสงครามโลกครั้งที่สอง (1940-1945) เป็นมาตรการที่ล้วนแต่มีผลมหาศาลในการทำลายความมั่นคงของระบบการปกครอง เราจึงประเมินได้ว่ารัฐบาลต่างๆ ของโลกคงจะต้องพยายามยั้บยั้งไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็คงฟื้นอย่างไม่สมบูรณ์ในลักษณะที่คนไข้ที่มีโรคเรื้อรังลุกขึ้นจากเตียงนอนเท่านั้น

ส่วนคำถามสุดท้ายว่า “เมื่อไรกรรมาชีพจะสู้” เป็นเรื่องสลับสับซ้อน เพราะชาวมาร์คซิสต์จะไม่มองว่าวิกฤตหรือการบูมขยายตัวของเศรษฐกิจมีผลให้กรรมาชีพสู้หรือยอมประนีประนอมโดยอัตโนมัติ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และความพร้อมในการต่อสู้ของกรรมาชีพ ในเรื่องนี้ ตรอทสกี นักปฏิวัติคนสำคัญของรัสเซีย เคยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเศรษฐกิจกับระดับการต่อสู้ทางชนชั้นไว้ในบทความตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในขณะที่ระบบสังคมนิยมในรัสเซียยังไม่ได้ถูกทำลายโดยโลกทุนนิยมที่ล้อมรอบและก่อนการขึ้นมาของเผด็จการข้าราชการแนวสตาลิน ในช่วงต่อไปของบทนี้ขอนำบางส่วนของงาน ตรอทสกี มาเสนอให้ท่านอ่าน

ท้ายสุดนี้ ในประเด็นเรื่องความพร้อมทางการเมืองของกรรมาชีพที่จะสู้ ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคหลังการประท้วงยิ่งใหญ่ที่ Seattle และ Genoa เป็นยุคที่มีการฟื้นตัวของแนวต้านทุนนิยมและแนวสังคมนิยมโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ภายหลังทศวรรษแห่งความหดหู่ที่เกิดขึ้นจากการพังทลายของกำแพงเมืองเบอร์ลิน ดังนั้นยุคนี้เป็นโอกาสทองที่จะขยายและรื้อฟื้นแนวความคิดมาร์คซิสต์เพื่อการต่อสู้ในอนาคต

ใจ อึ๊งภากรณ์

(1) ความสัมพันธ์ระหว่าง วิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจบูม และการนัดหยุดงาน โดย ลีออน ตรอทสกี

(จากการนำเสนอในการประชุมสมัชชาที่สามขององค์กรคอมมิวนิสต์สากล ปี 1921)

ความสัมพันธ์ในมุมกลับระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจบูม) กับวิกฤตเศรษฐกิจ และการพัฒนาของกระแสการปฏิวัติเป็นเรื่องที่เราทุกคนสนใจ ทั้งในแง่ของทฤษฏีและในแง่ของการปฏิบัติ หลายท่านคงจำได้ว่า มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เคยเขียนในปี 1851 ในยุคที่เศรษฐกิจขยายตัวเต็มที่ ว่านักปฏิวัติต้องจำใจเข้าใจว่าการปฏิวัติ 1848 จบสิ้นแล้ว หรืออย่างน้อยต้องถูกพักไว้จนกว่าจะมีวิกฤตใหม่ เองเกิลส์ เขียนว่าในขณะที่วิกฤตปี 1847 เป็นแม่ให้กำเนิดของการปฏิวัติ ในมุมกลับกันช่วงบูมระหว่าง 1849-1851 เป็นแม่แห่งกระแสปฏิกิริยาที่ได้รับชัยชนะ แต่ถ้าเราจะตีความจากคำเขียนเหล่านี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจย่อมนำไปสู่กระแสการปฏิวัติและการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นกรรมาชีพนิ่งเฉย เราจะผิดพลาดอย่างยิ่งและจะเป็นการตีความด้านเดียว การปฏิวัติ 1848 ไม่ได้กำเนิดจากวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น แต่วิกฤตดังกล่าวเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติครั้งนั้นเกิดจากความขัดแย้งระหว่างความต้องการของระบบทุนนิยมที่กำลังพัฒนากับอุปสรรคที่มาจากระบบกึ่งศักดินาและระบบรัฐที่ดำรงอยู่ ดังนั้นถึงแม้ว่าการปฏิวัติในปี 1848 จะเป็นเพียงการปฏิวัติครึ่งใบแต่มันมีผลในการกวาดล้างซากสุดท้ายของระบบทาสและระบบสมาคมแรงงานฝีมือโบราณที่เคยมีอยู่ให้หมดสิ้นไป และเปิดทางสำหรับการพัฒนาโครงสร้างของระบบทุนนิยม ซึ่งภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวระบบทุนนิยมก็สามารถขยายตัวไปเรื่อยๆ จนถึงปี 1873

เวลาเราอ้าง เองเกิลส์ เราไม่ควรมองข้ามข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว เพราะยุคหลัง 1850 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ ตั้งข้อสังเกตที่พึ่งเอ๋ยถึง เป็นยุคแห่ง “พายุและความตึงเครียด” ของระบบทุนนิยมภายใต้เงื่อนไขที่ถูกสร้างในการปฏิวัติ 1848 เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ยุคแห่งพายุและความตึงเครียดเป็นยุตที่เศรษฐกิจขยายตัวระยะยาว ในขณะที่วิกฤตเป็นเพียงช่วงสั้นที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ และยุคแห่งพายุและความตึงเครียดนี้เองก็จบลงด้วยการปฏิวัติ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องจับตาดูเสมอคือลักษณะของกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นหรือลดลง ไม่ใช่การมาตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมว่ากรรมาชีพจะสู้?”

ในยุคเศรษฐกิจบูมปัจจุบัน (1919-1920) สถานการณ์จะเหมือนกันหรือไม่? ไม่มีทางเลย! ยุคนี้ไม่ใช่ยุคแห่งการขยายโครงสร้างทุนนิยม นี่แปลว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวระยะยาวอีกไม่ได้ใช่ไหม? ไม่ใช่ ผมเคยอธิบายหลายครั้งแล้วว่าตราบใดที่ระบบทุนนิยมยังมีชีวิตอยู่มันจะหายใจเข้าและหายใจออก จะมีบูมและวิกฤต แต่ยุค 1920 นี้เป็นยุคของการปรับตัวหลังจากความเสียหายมหาศาลจากสงครามโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจในยุคนี้จึงมีลักษณะของการปั่นหุ้นมากกว่า ในขณะที่วิกฤตพื้นฐานกำลังขยายตัว

จริงอยู่ การพัฒนาของประวัติศาสตร์ปัจจุบันไม่ได้พาเราไปสู่ชัยชนะในการปฏิวัติกรรมาชีพในยุโรปตะวันตกและยุโรปกลาง แต่ข้อเสนอของพวกปฏิรูปว่าความสมดุลย์ของระบบทุนนิยมได้กลับมาแล้ว เป็นข้อเสนอที่โง่ยิ่ง แม้แต่พวกนักวิชาการปฏิกิริยาที่พอมีสมองยังไม่เชื่อข้อเสนอนี้เลย เขาจะมองว่า 1920 เป็นปีที่กระแสการปฏิวัติไม่ได้รับชัยชนะ แต่ในขณะเดียวกันระบบทุนนิยมโลกก็ไม่ได้ฟื้นตัว มันเป็นความสมดุลย์ชั่วคราวที่ไร้ความมั่นคง

ตอนนี้เศรษฐกิจตะวันตกกำลังชะลอตัว แต่สภาพเช่นนี้ก็จะไม่ดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุนนิยมสามารถพักแล้วหายใจอากาศบริสุทธิ์เข้ามาใหม่ แต่เรายังมองไม่ออกว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อไร ก่อนหน้านั้นมันต้องผ่านขั้นตอนในการจัดการกับความขัดแย้งระหว่างความยากจนพื้นฐานและการผลิตล้นเกินแบบฟองสบู่ ซึ่งจะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจต่อไป

ในเมื่อเศรษฐกิจยังตกต่ำชนชั้นนายทุนจะต้องกดดันชนชั้นกรรมาชีพหนักขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศทุนนิยมเต็มตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เราเริ่มเห็นการกดค่าแรงให้ลดน้อยลง การกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อสู้อันใหญ่หลวงเรื่องค่าแรง หน้าที่ของเราคือการขยายการต่อสู้ดังกล่าวบนพื้นฐานความเข้าใจในสภาพจริงของเศรษฐกิจ อันนี้ชัดเจน แต่อาจมีคำถามว่าการต่อสู้เรื่องค่าแรงจะนำไปสู่กระแสการปฏิวัติและการยึดอำนาจรัฐโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือไม่ แต่การถามคำถามแบบนั้นไม่ใช่วิธีการของนักมาร์คซิสต์ เราไม่มีหลักประกันใดๆ เกี่ยวกับทิศทางการต่อสู้ แล้วเวลาวิกฤตเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเกิดอะไรขึ้น? สหายบางคนมองว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นการปฏิวัติของเราต้องล่มจมแน่ ไม่จริงอย่างที่เขาเสนอ โดยรวมแล้วการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้พึ่งพาวิกฤตเศรษฐกิจแบบกลไกอย่างนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤตและการปฏิวัติเป็นความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีต่างหาก

ถ้าเราจะทำความเข้าใจให้ดีขึ้นเราควรพิจารณากรณีรัสเซีย หลังจากที่การปฏิวัติ 1905 ล้มเหลวไป กรรมาชีพถูกบังคับให้เสียสละมหาศาล ในปี 1906-1907 มีแค่ซากสุดท้ายของไฟการปฏิวัติ แล้วปลายปี 1907 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มจาก “วันศุกร์ดำ” ของตลาดหุ้นวอลสตรีด ในรัสเซียระหว่างปี 1907-1909 มีวิกฤตร้ายแรง วิกฤตนี้ทำลายขบวนการปฏิวัติโดยสิ้นเชิงเพราะทำลายกำลังใจของกรรมาชีพในการต่อสู้ และในยุคนั้นพวกเราถกเถียงกันบ่อยว่าอะไรจะนำไปสู่การฟื้นฟูการต่อสู้

ในยุคนั้นพวกเราส่วนหนึ่งมองว่าขบวนการปฏิวัติรัสเซียจะฟื้นฟูได้ก็ต่อเมื่อสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น และพอดีสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริง ในปี 1910, 1911 และ 1912 สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นช่วยรวมพลังและให้กำลังใจกับกรรมาชีพที่เคยหดหู่ทดถอย เพราะกรรมาชีพรู้สึกตัวอีกครั้งว่าตนเองสำคัญมากในระบบการผลิต ในที่สุดการต่อสู้ของกรรมาชีพก็ขยายไปในเชิงรุกสู้ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในที่สุดในด้านการเมืองด้วย พอถึงปีที่สงครามโลกเกิดขึ้น(1914) กรรมาชีพมั่นใจยิ่งนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งช่วยให้กรรมาชีพสามารถใช้พลังในการยึดอำนาจโดยตรงในภายหลัง ดังนั้นถ้าเราในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจทดถอยไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจเป็นไปได้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในด้านบวกที่ขยายความมั่งคั่งของสังคมคงจะไม่มีผลร้ายอะไรต่อกระบวนการปฏิวัติ ตรงกันข้ามน่าจะมีผลดี ผลร้ายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พูดถึงเป็นไปในรูปแบบที่ยาวนานและมั่นคงเท่านั้น แต่เราทราบดีว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบนั้นในยุคนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ระบบทุนนิยมเป็นระบบโลกแล้ว ความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างความเสียหายของเศรษฐกิจในยุโรปที่เป็นผลมาจากสงครามโลก(ครั้งที่หนึ่ง)กับการพัฒนาเศรษฐกิจสหรัฐบนพื้นฐานการทำสงครามของประเทศอื่น ย่อมเป็นอุปสรรคในการฟื้นระบบทุนนิยม และการที่สหรัฐพยายามขยายตลาดไปสู่จีน ไซบีเรีย อเมริกาใต้ และประเทศอื่นๆ ย่อมไม่ช่วยอะไรนัก ดังนั้นเราคงต้องสรุปว่าโลกกำลังรอคอยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งต่อไป

ในสถานการณ์ดังกล่าวการฟื้นตัวชั่วคราวของเศรษฐกิจจะไม่เป็นภัยต่อกระบวนการปฏิวัติแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นโอกาสในการที่ชนชั้นกรรมาชีพจะได้พักหายใจเพื่อรวมพลังสู้ต่อไปในเชิงรุกมากกว่า อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในความเป็นไปได้ที่หลากหลาย อีกแนวหนึ่งที่เป็นไปได้เช่นกันก็คือวิกฤตปัจจุบันจะยืดเยื้อจนกลายเป็นวิกฤตเรื้อรัง ในกรณีที่สองชนชั้นกรรมาชีพก็ยังสามารถรวมกำลังสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ บวกกับประสบการณ์ในการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อยึดอำนาจรัฐในประเทศพัฒนาที่สำคัญๆ สิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้มีสิ่งเดียวเท่านั้น นั้นคือการรื้อฟื้นระบบทุนนิยมอย่างจริงจังในรูปแบบใหม่ในสองสามปีข้างหน้า สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

(2) วัฏจักรเศรษฐกิจกับการต่อสู้ทางชนชั้น โดย ลีออน ตรอทสกี

(คัดลอกจากหนังสือพิมพ์ พราฟดา ปี 1921)

เราทราบดีว่าระบบทุนนิยมพัฒนาในรูปแบบวัฏจักรทางอุตสาหกรรม คือจากการขยายตัว (บูม) สู่การชะลอตัว สู่วิกฤต ไปยังการฟื้นตัว และจบลงที่การขยายตัวอีกครั้ง และการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่าวัฏจักรดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 8-10 ปี ซึ่งถ้าเราจะวาดภาพของการขยายตัว-หดตัวของเศรษฐกิจบนกระดาษกราฟเราจะเห็นว่าในขณะที่เศรษฐกิจขึ้นลงในปีต่างๆ ดุจเสมือนการเต้นของหัวใจในร่างสิ่งมีชีวิต แนวโน้มในภาพรวมที่ผ่านมาคือการพัฒนาขยายตัวของทุนนิยมเกิดขึ้นเรื่อยๆ และที่ชัดเจนคือถ้าบวกลบคูณหาญกันแล้วช่วงเศรษฐกิจบูมมีผลในการเพิ่มปริมาณมูลค่ามากกว่าการทำลายมูลค่าในช่วงที่เศรษฐกิจทดถอยหดตัว

การที่ระบบทุนนิยมมีทั้งภาวะขยายตัวและภาวะทดถอย พิสูจน์ความผิดพลาดของพวกที่ใช้ความคิดที่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ที่มองว่าวิกฤตปัจจุบัน ที่เพิ่มความร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นวิกฤตสุดท้ายก่อนขั้นตอนชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพอย่างแน่นอน เราเน้นมาแล้ว ในสมัชชาที่สามของสากลกรรมาชีพ ว่าวัฏจักรทุนนิยมดำรงอยู่ในช่วงที่ระบบอ่อนวัย ในช่วงที่ระบบอยู่ในวัยกลาง และในช่วงที่ระบบเริ่มเสื่อมโทรมด้วยชราภาพ ไม่ว่าระบบทุนนิยมจะอยู่ในขั้นตอนไหนก็ตามสภาพวิกฤตมีผลทำให้การผลิตล้นเกินถูกทำลายไปซึ่งนำไปสู่การปรับระดับการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ดังนั้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ตามความรวดเร็ว ขอบเขต ความเข้มข้น และความมั่นคงของการฟื้นตัวดังกล่าวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่างในระบบทุนนิยม เราเคยพูดไปแล้วในสมัชชาที่สามว่าหลังจากที่วิกฤตปัจจุบันสามารถข้ามอุปสรรคแรกคือราคาผลผลิตที่สูงเกินไป การขยายตัวของอุตสาหกรรมจะชนอุปสรรคอื่นๆ เช่นความเหลื่อมล้ำระหว่างสหรัฐกับยุโรป ความยากจนในยุโรปกลางและตะวันออก และความวุ่นวายของระบบการเงินเป็นต้น พูดง่ายๆ การบูมของเศรษฐกิจครั้งต่อไปไม่สามารถสถาปณาสภาพความเป็นอยู่ในลักษณะเดิมก่อนสงครามโลกได้ ตรงกันข้าม เศรษฐกิจคงจะตกลงไปในหลุมเพลาะสงครามมากกว่า

ถึงกระนั้นการบูมของเศรษฐกิจก็เป็นของจริง มันหมายถึงการขยายตัวของความต้องการในสินค้า มันหมายถึงการหดตัวของจำนวนผู้ว่างงาน มันหมายถึงการเพิ่มขึ้นของราคา และโอกาสที่จะเพิ่มระดับค่าจ้าง และในบริบทของสังคมปัจจุบันการขยายตัวดังกล่าวของเศรษฐกิจจะเพิ่มกระแสปฏิวัติให้แหลมคมยิ่งขึ้น กระแสปฏิวัติต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศพัฒนาหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกจบลงด้วยความพ่ายแพ้ การทดถอย และความแตกแยก ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจแบบเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะเพิ่มความเจ็บปวดโกรธแค้นในใจของชาวกรรมาชีพ ในขณะเดียวกันจะพาเราไปสู่กระแสการต่อสู้ที่อ่อนแอได้ เพราะพลังและความมั่นใจในการต่อสู้ของกรรมาชีพผูกพันกับการสำนึกถึงความสำคัญของตนเองในระบบการผลิต ซึ่งสิ่งนี้มักจะได้มาในยุคเศรษฐกิจขยายตัว

วิกฤตเรื้อรังที่มีคนตกงานมหาศาลไม่ได้ช่วยการต่อสู้ของเราชาวพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด ตรงกันข้าม วิกฤตเรื้อรังมักจะสนับสนุนแนวคิดแบบปัจเจกอนาธิปไตยในขั้วหนึ่งของขบวนการแรงงาน และแนวคิดประนีประนอมกับระบบในอีกขั้วหนึ่งของขบวนการ นี่คือประสบการณ์ที่เราเห็นกับตามาในอดีต ในมุมกลับกันการขยายตัวของเศรษฐกิจจะสร้างความมั่นใจของชนชั้นกรรมาชีพที่พ่ายแพ้และแตกแยกมานานเพื่อสร้างกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดและสามัคคี....

ดังนั้นเรามีสิทธิ์ที่จะสรุปได้หรือไม่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะนำไปสู่ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพในการสร้างสังคมนิยม? ไม่มีสิทธิ์เลย! เราอธิบายไปแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างสภาพเศรษฐกิจกับระดับการต่อสู้ของกรรมาชีพไม่ใช่ความสัมพันธ์หยาบๆ แบบกลไก แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความสลับสับซ้อนละเอียดอ่อนและความขัดแย้งในเชิงวิภาษวิธี ประเด้นที่เราต้องพิจารณาคือ ถ้ามีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเรามีการเตรียมพร้อมทางการเมืองในหมู่กรรมาชีพมากน้อยแค่ไหน

 

(แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ จากวารสาร International Socialism, U.K., No.20, 1983, 132-140)